#4LifelongLearning | Education Hero
เคล็ด (ไม่) ลับในการเลือกออกแบบ MC ด้านการบริหารความเสี่ยง ของผศ. ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม
บทความนี้ทีมงาน 4LifelongLearning ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปพบกับอีกหนึ่งในผู้ออกแบบ MC ภายใต้โครงการ Micro-Credentials (MCs) กับมุมที่เห็นว่า MCs เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนและพัฒนาการศึกษาไปตามกลุ่มเป้าหมายและทิศทางของมหาวิทยาลัย
“สวัสดีครับอาจารย์หน่งนะครับ ผศ. ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม เป็นรองคณบดีฝ่ายแผน และประกันคุณภาพ และเป็นอาจารย์บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม หรือ GMI ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีของเรา” อาจารย์แนะนำตัวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
“สำหรับอาจารย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญและสอนเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง พอพูดชื่อเรื่องการบริหารความเสี่ยงอาจจะดูกว้าง เลยขออนุญาตทำในส่วนของความสามารถ (Competency) หนึ่ง เป็นขั้นตอนย่อย เป็นสมรรถนะย่อยของการบริหารความเสี่ยง คือ การประเมินความเสี่ยง และพัฒนา MC นี้ขึ้นมา เพราะคิดว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ก่อนที่เราจะไปดำเนินการบริหารจัดการใด ๆ เราต้องรู้ก่อนว่า อะไรสำคัญและไม่สำคัญในองค์กร จึงเลือกที่จะพัฒนาความสามารถนี้เป็น MC แรกของตัวเอง ชื่อว่าการพัฒนาแบบประเมินความเสี่ยง เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Building Risk Assessment to Navigate Organizational Opportunity)”
เพื่อเป็นการเน้นย้ำความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ อาจารย์จึงเล่าให้เราฟังต่อว่า “ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ ได้ทำเรื่องบริหารความเสี่ยงองค์กรมาหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ธนาคาร ก็เห็นว่าจริง ๆ แล้วมีคนที่มีความรู้เรื่องของการบริหารความเสี่ยงเยอะครับ แต่ว่าในเรื่องของขั้นตอนแต่ละขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการประเมินความเสี่ยง องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะว่าประเมินมันเหมือนการจัดเรียงลำดับ ถ้าองค์กรโฟกัสผิดจุดโฟกัสในสิ่งที่มันไม่สำคัญ จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดขององค์กร ไปทุ่มเทกับสิ่งที่มันไม่ควรจะทุ่มเท เลยมีความรู้สึกว่าเราอยากจะให้องค์กรได้ใช้ทรัพยากรสูงสุดด้วย จึงมาโฟกัสที่กลไกสำคัญ ๆ ที่สุดขององค์กรอย่างหนึ่งคือขั้นตอนในการจัดเรียงลำดับหรือที่เรียกว่าเป็นการประเมินความเสี่ยงนะครับ นี่ก็คือเหตุผล แล้วก็คนในอุตสาหกรรมครับที่มีชุดทักษะในด้านการบริหารความเสี่ยงมีอยู่พอสมควร แต่รู้ลึกจริง ๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ยังเป็น ช่องว่างอยู่ จากเท่าที่งานวิจัยบอกมา และจากที่อาจารย์มีประสบการณ์ก็เลยมองว่า เรามาโฟกัสกันที่จุดเดียวและรู้ลึกรู้จริงเรื่องของการประเมินอย่างเดียวจะดีกว่าครับ” การประเมินความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่อาจารย์เลือกมาทำ MC ก่อน
MC ของอาจารย์เหมาะกับใครบ้างคะ?
“ถ้าหากแบ่งอย่างเป็นระบบ จะมี 2 อย่างคือ คนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่หน้าที่ด้านการบริหารความเสี่ยงองค์กร กับอีกอันคือคนที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่อยากที่จะรู้ลึกรู้จริง”
อยากให้อาจารย์เชิญชวนผู้สนใจมาพิสูจน์ความสามารถค่ะ?
อาจารย์พยักหน้าพร้อมตอบทันที “ได้ครับ” “อาจารย์พัฒนา MC เรื่องนี้จากปัญหาหรือจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในสังคม คือเรื่องของคนที่อยากที่จะการันตีว่าตัวเองมีความรู้ในด้านของการบริหารความเสี่ยง ส่วนใหญ่ก็จะวิ่งหาไป certificate ระดับโลก ที่มีแต่ภาษาอังกฤษ แต่คนไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งที่เรารับทราบกันดีคือเรื่องของการที่ภาษาอังกฤษเป็นเหมือนกับจุดอ่อน ดังนั้นจุดหนึ่งคือเรามาเรียนรู้ในบริบทสังคมของคนไทย แล้วเราก็มองว่าในด้านของการบริหารความเสี่ยง certify ระดับโลกไม่ได้ง่ายนะครับ ส่วนตัวของอาจารย์เวลาสอบอะไรพวกนี้อ่านหนังสือเยอะมาก ๆ จึงอยากจะชวนมาเริ่มพิสูจน์ความสามารถนี้ก่อน ถ้าสมมุติว่าประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ออกแบบ และมหาวิทยาลัยในการที่จะออกแบบพัฒนาโมดูลอื่น และพัฒนาเทียบเคียง MC นี้ให้เสมือนกับประกาศนียบัตรระดับโลกต่อไปครับ” (ได้ฟังอยากจะรีบไปลงพิสูจน์ความสามารถ MC ของอาจารย์เลยค่ะ)
อาจารย์ช่วยนิยามความหมายของ MC ในมุมของอาจารย์ให้เราได้ไหมคะ?
“สั้น ๆ MC คือใบเบิกทาง มันเหมือนกับสิ่งที่การันตีว่าคนคนหนึ่งจะเข้าไปทำงานอุตสาหกรรมนอกจากปริญญาที่เขามี เขามีความสามารถอะไรที่จะเข้าไปช่วยอุตสาหกรรมได้ เพราะฉะนั้นสั้น ๆ ก็คือมองว่าเป็นใบเบิกทางนะ”
หลายท่านอาจมองว่าการออกแบบ MC อาจเป็นการเพิ่มภาระงาน แต่ทำไมถึงเลือกมาออกแบบ MC กับเราละคะ?
“อันนี้ต้องแอบบอกเลยว่ามันเหมือนกับเราเข้าไปเจออะไรที่เหมือนรู้สึกถ้ามันยากเราก็ไม่อยากทำ แต่ว่าทางผู้เชี่ยวชาญของโครงการ ทีมงานให้คำแนะนำที่ดีมากแล้วก็ตามอยู่เรื่อย ๆ บางทีอาจารย์ก็มีงานอันนั้น แต่ก็ไม่ย่อท้อ แล้วก็ตอบไลน์เร็วมากอันนี้ดีจริง ๆ ต้องขอบคุณที่เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องที่ 2 เนี่ยแน่นอนครับเรามองว่าทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เปลี่ยนไปสู่กลุ่มทำงานละนะครับ Demographic มันเปลี่ยนแล้วครับ ก็คิดว่า MC เหมือนเป็นอะไรที่ ถ้าสมมุติว่าเราสามารถที่จะดู Demand Side ดูอะไร ต่าง ๆ ให้มันคู่กัน เหมือนกับเป็นอะไรที่นโยบายมหาวิทยาลัยไปทางนี้ อาจารย์ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะเดินทางนี้ด้วยครับ” (ตบมือค่ะ)
ความรู้สึกที่ได้มาร่วมออกแบบ MC กับเราเป็นอย่างไรบ้างคะ?
“ความรู้สึกอย่างที่บอก ได้รับความช่วยเหลือค่อนข้างดีเลย” “ต่อไปเราก็ต้องมาดูกันว่าพอเรามีการได้ใช้จริงแล้ว ผลตอบรับน่าจะต้องถามกลุ่มคนที่จะเข้ามา Earn ว่าเป็นอย่างไร” (ทีมงานตบมือและยกมือขอบคุณอาจารย์อีกรอบค่ะ)
ก่อนจบการสัมภาษณ์อยากให้อาจารย์เชิญอาจารย์ท่านอื่น ๆ เข้ามาร่วมออกแบบ MC กันค่ะ
“ทุก ๆ ท่าน ทั้งภายใน GMI เองด้วย และทั้งมหาวิทยาลัยด้วยครับ ว่าจริง ๆ เรามาเริ่มต้นไปพร้อม ๆ กันครับ มันก็เหมือนกับขั้นตอนของการออกแบบอะไรที่เป็นนวัตกรรม มันก็ต้องมีผิดพลาดบ้าง แต่คิดว่าถ้าเราไม่เริ่มถ้าเราไม่ทำ เราอาจจะช้า อยากจะเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกัน เคล็ดลับอย่างหนึ่งที่กำลังจะบอกว่าถ้าสมมุติว่าเราใช้คำว่า Competency เป็นหลัก อันนี้มันจะทำให้เราตัดขอบเขตได้ว่าเราจะเริ่มต้นยังไงแล้วทำให้มันลึกดีกว่ามันกว้าง เพราะว่าถ้ากว้างมันจะได้หลาย Competency มันอาจจะไม่เสร็จภายในหนึ่ง MC ส่วนตัวทำไปอันเดียว เดี๋ยวรอดูอันหน้าว่าจะเป็นยังไงครับ”
ทีมงาน 4LifelongLearning ขอบพระคุณ ผศ. ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม รองคณบดีฝ่ายแผน และประกันคุณภาพ และเป็นอาจารย์ บัณฑิตวิทยาลัยและการจัดการนวัตกรรม ที่สละเวลามาร่วมสัมภาษณ์กับเราในครั้งนี้ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับประโยชน์และแรงบันดาลใจในการสร้างและพัฒนาการศึกษาของไทยต่อไป
สนใจร่วมออกแบบ MCs เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นต่อการทำงานติดต่อทีมงานได้ที่ 4life@mail.kmutt.ac.th
ความคิดเห็น