ในแวดวงอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นทางด้านยานยนต์ ปิโตรเลียม หรือปิโตรเคมี การเชื่อมทางโลหะนั้นเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับมาตรฐานในการผลิต จะดีแค่ไหนหากเราสามารถประเมินอายุ ประเมินความเสียหาย จากคุณสมบัติวัสดุ ที่สามารถบ่งบอกถึงสภาพของวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมของเราได้ว่า มีมาตรฐานและมีคุณภาพน่าเชื่อถือ วันนี้ทีมจะพาไปรู้จักกับผู้ที่ออกแบบ MC ด้านวิศวกรรมการเชื่อมทางโลหะวิทยา ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวกันค่ะ
“สวัสดีครับผม ผศ. ดร.อิศรทัต พึ่งอ้น เป็นนักวิจัยทางด้านวิศวกรรมการเชื่อมทางโลหะวิทยา สังกัดศูนย์เทคโนโลยีซ่อมบำรุงรักษา สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีความเชี่ยวชาญและความสนใจทางด้านโลหะวิทยา โดยเฉพาะโลหะวิทยาการเชื่อม เน้นการเตรียมโครงสร้างจุลภาคของชิ้นงาน โดยเฉพาะพวกโลหะไว้สำหรับการวิเคราะห์”
MC ที่อาจารย์ออกแบบมีชื่อว่าอะไร? “MC นี้เป็น Stack ตอนนี้มี 2 ระดับ ระดับแรกคือเรื่อง การเตรียมชิ้นงานสำหรับการวิเคราะห์โครงสร้างจุลภาค (Microstructure Specimen Preparation) ซึ่งเป็นพื้นฐาน และสำหรับ MC ถัดไปก็คือเรื่อง การลอกลายโครงสร้างจุลภาคของวัสดุโลหะขั้นพื้นฐาน (Basic Replica of Metallic Microstructure) จะต่างกันตรงที่เรื่องแรกนำงานมาหาเครื่อง เป็นการตัดชิ้นงานมา ส่วนอีกเรื่องคือนำเครื่องไปหางาน เป็นงาน Onsite”
MC นี้เกี่ยวกับอะไร?
“ในการดูโครงสร้างจุลภาคใน MC ทั้งสอง ตัวโครงสร้างจุลภาคจะบอกถึงคุณสมบัติวัสดุ บอกถึงสภาพของวัสดุ ที่เราสามารถนำไปใช้ในการประเมินอายุ ประเมินความเสียหาย ปัญหาอยู่ที่หากเราได้โครงสร้างจุลภาคมาผิด เราได้ภาพมาผิด ทุกอย่างที่เราประเมินและผลการวิเคราะห์จะผิดไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะเตรียมชิ้นงานมาให้ดี ให้ไวและมีคุณภาพ”
ทำไมจึงเลือกออกแบบ MC เรื่องนี้?
“อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามันส่งผลต่อการประเมิน ซึ่งการประเมินทั้งความเสียหาย และอายุ จะส่งผลต่อการตัดสินใจ ถ้าเราตัดสินใจผิด นั่นคือเกิดความเสียหายต่อชิ้นงาน เมื่อชิ้นงานนี้ไปอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เตา บอยเลอร์ (Boiler) ซึ่งมีความอันตราย มันกลายเป็นอันตรายต่อสาธารณะ เป็นเรื่องใหญ่ และคนที่อยากประเมินตัวนี้ต้องมีคุณสมบัติระดับหนึ่ง ผ่านการประเมินระดับหนึ่งก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลที่เขาทำ ภาพที่เขาได้ ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และพร้อมที่จะเอาไปวิเคราะห์ได้”
MC นี้เหมาะกับใครบ้าง?
“จริง ๆ อยู่ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี หรือ Power generation เพราะฉะนั้นบรรดาวิศวกร ช่างเทคนิคที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือการควบคุมคุณภาพ
ขอเชิญมาเลยครับ มาดูกันว่าท่านมีความสามารถในการเตรียมชิ้นงาน ได้เจ๋ง ได้ดี เนี๊ยบขนาดไหน”
นิยามความหมายของ MC
“MC เป็นการพิสูจน์ว่าคุณทำเป็น ไม่ใช่ แค่ทำได้ ทำได้ คือใครจะทำก็ทำได้ ทำเป็น คือทำมาให้ดี ทำมาให้ถูก ทำมาให้ใช่”
ทำไมถึงเข้าร่วมเป็นผู้ออกแบบ MC?
“ในฐานะที่เราอยู่ในมหาวิทยาลัย เราต้องรับผิดชอบพัฒนาความสามารถของคนในประเทศ หลายคนบอกว่าอยากทำอะไรย่อย ๆ แล้วนำไปใช้ได้เลย คงไม่มีเวลาที่จะมานั่งเรียน 4 ปี 6 ปี เพื่อที่จะไปทำงาน ตอนนี้คือยิ่งไว ยิ่งดี จะช่วยทั้งประเทศ เศรษฐกิจ และช่วยคน ๆ นั้น ซึ่งเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกอะไรที่อยาก และยินดีที่จะมาช่วย”
ความรู้สึกที่ได้มาร่วมออกแบบ MC?
“รู้สึกดีครับ เป็นอะไรที่แปลกใหม่ จากสอนหนังสือ กลายเป็นว่าเรามี 2 ปาร์ตี้อยู่ในคนคนเดียวกัน คนสอนกับคนสอบ แต่ตัว MC ก็ทำให้เราพยายามโน้มน้าวฝึกฝนเราให้แบ่ง 2 อย่างนี้ให้ชัดเจน อันนี้ชอบมาก แต่มันอาจจะวุ่นวายไปบ้าง เพราะเราไม่เคย ต้องขอบคุณฝั่ง MC ที่ฝึกผมตรงนี้”
เชิญชวนผู้สนใจมาพิสูจน์ความสามารถและเชิญชวนอาจารย์ท่านอื่น ๆ มาร่วมออกแบบ MC
“ช่างเทคนิคที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือการควบคุมคุณภาพ วิศวกร รวมทั้งผู้ประเมินทั้งหลาย เราลองมาดูเรื่องของโครงสร้างจุลภาค การลอกลาย ท่านมีความสามารถขนาดไหน ท่านทำแล้วถูกต้องหรือไม่ ภาพที่ได้ใช่หรือไม่ สิ่งนี้จะย้อนกลับไปเป็นประโยชน์กับท่านเอง ไม่ใช่แค่ทำผ่าน ๆ ไป ทำแล้วฝึกฝนตัวท่าน เป็นประโยชน์ทั้งตัวท่าน และองค์กร รวมถึงประเทศด้วย”
“สำหรับอาจารย์ที่อยู่ใน มจธ. จริง ๆ แล้ว MC อาจจะไม่คุ้นเคยสำหรับเรา แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเราพอสมควร อย่างน้อยทำให้เราแบ่งแยกระหว่างฝั่งสอนกับฝั่งสอบประเมินไว้ได้ ของบางอย่างมันไม่มีมาตรฐาน เราทำสิ่งนี้ค่อย ๆ สร้างมาตรฐาน ทำให้เป็นมาตรฐานไปเรื่อย ๆ แม้กระทั่งคนที่มาเรียนกับเราที่อาจจะไม่ใช่เป็นนักศึกษาของเราทำอะไรที่ถูกต้องขึ้น ตรงตามภารกิจของเราในฐานะบุคลากรมหาวิทยาลัย”
ทีม MC หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์หลาย ๆ ท่านที่อยากเข้าร่วมออกแบบ MC เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการศึกษาไทยมากขึ้น และผู้ที่สนใจมาพิสูจน์ความสามารถเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองด้วยเช่นกัน
สนใจร่วมออกแบบ MC หรือสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อที่ 4life@mail.kmutt.ac.th หรือสนใจพิสูจน์ความสามารถได้ที่ www.4lifelonglearning.org
Comments