“ผู้เรียนปิดกล้อง ปิดไมค์ จะให้ทำอย่างไร” เป็นอีกหนึ่งในคำถามที่มักได้ยินบ่อยๆ และเป็นปัญหาของการเรียนการสอนออนไลน์ จากผู้สอนยุคโควิดที่สร้างความรู้สึกท้อแท้และบั่นทอนความมั่นใจในความพยายามจะสื่อสารผ่าน Virtual Meeting Tools ต่างๆ ก่อนอื่นเรามาดูเหตุผลที่ผู้เรียนปิดกล้อง ปิดไมค์กันก่อน
9 เหตุผล ทำไมผู้เรียนถึงปิดกล้อง ปิดไมค์
งั้นลองกลับมาถามตัวเราเองกับเพื่อนๆ ดูว่า เคยต้องเข้าประชุมออนไลน์แล้วปิดกล้อง ปิดไมค์ไหมคะ? ทำไมเราถึงทำอย่างนั้น อาจจะได้คำตอบที่หลากหลายมาก เช่น
“เพราะมันทำได้” “มันมีปุ่มให้ปิดได้” แล้วถ้าจะให้เลือกระหว่างปิดกับเปิด สะดวกปิดมากกว่า (ถ้าเราไปเจอกันในห้องประชุม เราทำแบบนี้ไม่ได้ไง)
“ไม่สะดวก” เหตุผลนี้มีทั้งจริงและโกหก บางท่านก็ไม่สะดวกจริงๆ มีเด็กร้องไห้ หรือต้องประชุมจาก Shared Space ที่มีเสียงดัง บางท่านไม่ได้มีปัญหาเหล่านั้นเลย แต่กลัวจะแรงไปถ้าตอบว่าจริงๆ แล้ว “ไม่อยากเปิด”
“ก็คนอื่นยังปิดเลย” ถ้าคนอื่นเปิด ฉันเปิดก็ได้ แต่ฉันไม่เปิดก่อนนะ (เดี๋ยวเสียเปรียบ)
“เบื่อ เซ็ง” อันนี้เกิดบ่อยมากกับการประชุมที่ไม่อยากเข้า รู้สึกว่าตัวเราไม่เกี่ยวด้วย ทำไมต้องมาอยู่ตรงนี้ เลยมาแบบไม่เต็มใจ หรือไม่ก็เบื่อหน้าผู้พูด ประมาณว่า ทำไมคนนี้อีกละ Blah blah blah — (ส่งสัญญาณด้วยการปิดกล้อง)
“ประชุมแย่ๆ” Oh, this meeting is so long and aimless. การประชุมนี้มันช่างยาวนาน แล้วไม่ได้อะไรจริงๆ เสียเวลาชีวิตมากที่ต้องมาเข้า
“ทำงานอื่น” ต้องประชุมสองหู เราเป็นคนแยกประสาทได้ไง แล้วยังมีรายงานโครงการต้องทำ Papers ต้องตรวจ และอีกเยอะแยะที่สำคัญกว่านี้
“ไม่ชอบ” รู้สึกว่ามีคนมาจ้องหน้าเราตลอดเวลา อยากแลบลิ้น อ้าปาก ทำหน้าแปลกๆ บ้าง ถ้าเปิดกล้องก็ทำไม่ได้ไง อีกอย่างหนึ่งก็อาย ไม่อยากโชว์หน้าตัวเอง (ไม่มั่นใจในหน้าสดและชุดที่ใส่)
“ฉันไม่พูด ฉันไม่พอใจ” บางคนใช้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือประชดเพื่อนร่วมงาน เพื่อบอกว่าตัวเองไม่พอใจอะไรบางอย่าง แสดงออกให้เห็นเป็นเชิงสัญลักษณ์ ให้เราผู้ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งหลายเดาเอาเองว่าเธองอน
“เน็ตไม่แรง” ประหยัด Bandwidth ด้วยการปิดกล้อง ถ้าเปิดกล้องแล้วบางทีเวลาพูดจะกระตุก ถึงแม้บางทีจะไม่กระตุกเราก็ปิด ปิดแล้วปิดเลย :)
เชื่อว่ามีเหตุผล (ที่น่าเชื่อถือ) อีกมากมาย แต่ไม่ได้เขียนอยู่ในนี้ และเหตุผลที่ผู้เรียนเลือกที่จะปิดกล้อง ปิดไมค์ ก็คงไม่ต่างกันกับเรามากนัก ถูกไหม? แล้วทำอย่างไร ให้ผู้เรียนเปิดกล้อง? (แบบไม่ได้บังคับหรือต้องขู่ว่าจะหักคะแนน!) คำตอบที่ได้ ดูไม่ค่อยเกี่ยวกับเหตุผลข้างบนเท่าไหร่ แต่ถ้าคิดให้ดีจะเห็นได้ว่า
คนจะเปิดกล้องก็ต่อเมื่อรู้สึก Connected เห็นความสำคัญ ได้รับการยอมรับ หรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร ถ้าเราทำให้พวกเขารู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ แน่นอนว่าพวกเขาไม่เปิดแน่ๆ
5 วิธีสร้าง Culture ของการเปิดกล้องในห้องเรียน
1. สร้าง Personal Connections กับผู้เรียน
การเริ่มการเรียนการสอนครั้งแรกใน Zoom หรือ Microsoft Teams เป็นสิ่งที่ยากทั้งกับพวกเราและผู้เรียนในการได้ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยให้เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับผู้เรียนเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของความเชื่อใจและความรู้สึกปลอดภัยในการมีส่วนร่วม ซึ่งเราสามารถสร้างให้เกิดได้ด้วยการทักทาย ชวนคุย เล่นเกม หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้เรารู้จักผู้เรียนและพวกเขาได้รู้จักกันมากขึ้น
อย่าลืมว่า Connections ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนกันเองก็สำคัญไม่แพ้ Connections ระหว่างเราและผู้เรียน
การที่พวกเขาไม่ได้มาพบปะ เจอกัน รับประทานข้าวด้วยกันที่มหาวิทยาลัยก็ส่งผลกับระดับความเชื่อใจและความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมของผู้เรียนทั้งสิ้น
ETS Tip ลองหาเครื่องมือที่จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียนให้น่าสนใจมากขึ้นได้ที่ techintegration.ets.kmutt.ac.th
2. Set a Stage ตั้งแต่ต้น
โดยอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจ ดังนี้
อะไร คือ Expectation และ Best Practice ของการเข้าร่วม เช่น การใช้ Laptop หรือ Work Station แทนการใช้โทรศัพท์มือถือ
การจัดสภาพแวดล้อมหรือสถานที่ในการเรียนการสอนที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
การสร้างการมีส่วนร่วมโดยการเปิดกล้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น โดยต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่าการ Encourage และให้ความเคารพผู้พูดที่เปิดกล้องอยู่เป็นสิ่งที่เราให้คุณค่าใน Class นี้ และการที่คนส่วนมากไม่เปิดกล้องส่งผลอย่างไรต่อบรรยากาศ และประสิทธิภาพของการสื่อสาร ในกรณีที่ไม่สะดวกจริงๆ เราอาจจะให้ผู้เรียน Direct Messages มาบอกเป็น Case-by-Case ไป
3. สร้างให้เกิดเหตุผลในการเปิดกล้องและโครงสร้างของการมีส่วนร่วม
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมผ่าน Engagement Tools, Chat Tools หรือที่ดีกว่านั้น คือ การกำหนดบทบาทให้ผู้เรียน “ได้พูด” อธิบาย แสดงความคิดเห็น หรือทำงานในกลุ่มย่อยๆ ผ่าน Feature Breakout Room เพื่อดึงความสนใจให้อยู่กับห้องเรียนหรือการประชุม
การที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมโดยการนำเสนอ แสดงความคิดเห็น หรือสนทนากันจะช่วยสร้างให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และส่งผลดีต่อ Collaborative Culture อีกด้วย
4. ให้คุณค่ากับเวลา
โดยการทำให้ Online Meeting สั้นและมีประสิทธิภาพ เช่น สร้างเป้าหมายของการคุยกันให้ชัดเจนว่าวันนี้อยากจะได้อะไรจาก Meeting นี้ และจะทำอย่างไรให้เร็วที่สุด หรือการอัดเนื้อหาที่จำเป็นต้องอธิบายยาวๆ ไว้ใน Video Clips สั้นๆ เพื่อให้ผู้เรียนไปดูมาก่อนที่จะมาสนทนากันว่าไม่เข้าใจตรงไหน การเตือนให้ผู้เรียนเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อการสนทนาที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ETS Tip สร้างวิดีโอแบบสั้น โดยเลือกใช้เครื่องมือการบันทึกวิดีโอการสอนอย่างง่าย
5. สร้างการเปิดกล้องให้เป็นเรื่องสนุก
โดยเป็นการอนุญาตให้ผู้เรียนใช้ Filters ต่างๆ เพื่ออำพรางความเขิน เช่น Snap Camera หรือสร้าง Theme ให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม
ข้อควรระวังสำหรับการสร้าง Culture ของการเปิดกล้องในห้องเรียน
1. พยายามอย่าบังคับหรือขู่ผู้เรียนด้วยการตัดคะแนน
การบังคับยังส่งผลในทางลบกับ Culture ของความเชื่อใจและพื้นที่ปลอดภัยของผู้เรียน เราจะรู้เองว่าเราสร้าง Culture นี้ได้สำเร็จเมื่อผู้เรียนตัดสินใจเปิดกล้องด้วยตนเอง เพื่อพวกเราจะได้พบหน้ากันและใช้การสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด (Non-Verbal Communication) เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
2. ความรู้สึกปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้เรียน
ถ้าพวกเขารู้สึกว่าการเปิดกล้องแล้วตอบคำถามผิดๆ หรือการแสดงออกว่าพวกเขายังไม่เข้าใจ เป็นสิ่งน่าอาย พวกเขาจะไม่เปิดกล้องอีกเลย ฉะนั้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Encourage Participations) สร้างให้เกิดการยอมรับ การยังทำไม่ได้หรือยังไม่เข้าใจเป็นสิ่งที่เราให้คุณค่า เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างให้เกิด ผ่านทั้งคำพูด สีหน้าและการกระทำที่เกิดในห้องเรียนนั้นๆ
3. การยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายของผู้เรียน
ผู้เรียนบางคนจำเป็นต้องเข้าเรียนจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ถ้าเราทราบถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงเปิดกล้องไม่ได้ จะทำให้เข้าใจและคาดหวังได้เหมาะสม
คุณเห็นด้วยไหมว่า ผู้เรียนควรเปิดกล้อง
เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วย
ไม่แน่ใจ
แล้วคุณล่ะ พบปัญหาในการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไรบ้าง Comment พูดคุยกันได้ที่ใต้บทความนี้ หากชอบบทความแบบนี้ อย่าลืมกดติดตาม เพื่ออัปเดตข่าวสารด้านเทคโนโลยีการศึกษา หรือเครื่องมือใหม่ๆ ในการเรียนการสอนได้ที่ Facebook ETS KMUTT และ LINE Official Account @etskmutt
Comments