top of page
  • รูปภาพนักเขียนETS KMUTT

ทิศทางการปรับตัวของการศึกษาในยุค New Normal

อัปเดตเมื่อ 24 ก.ย. 2564



สถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกและในประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทุกภาคส่วนล้วนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ในบทความนี้เราจะพูดถึงการศึกษาไทยยุค New Normal ในประเด็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการศึกษาและการปรับตัวในยุคที่เกิด Education Disruption ที่การเรียนการสอนแบบดั้งเดิมอาจไม่ตอบโจทย์หรือเหมาะสมกับยุคในปัจจุบันอีกต่อไป


รูปแบบการเรียนการสอนแบบปกติ หรือที่ทุกคนเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า Lecture เป็นวิธีการสอนอยู่ในห้องเรียนที่ทำกันมาเนิ่นนาน จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 จึงต้องเปลี่ยนมาเป็น Online Lecture ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ผู้สอน และผู้เรียน


 

การปรับตัวของผู้เรียนในยุค New Normal


การศึกษาในยุค New Normal นี้ส่งผลต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก จากเดิมที่เคยต้องมาเรียนในห้องเรียนที่มีอุปกรณ์ เครื่องมือ และสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียน แต่ต้องเปลี่ยนมาเป็นการเรียนที่บ้าน (Learn from Home) ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงอุปกรณ์เรียนออนไลน์ ค่าอินเทอร์เน็ต หรือค่าอาหารกลางวัน เพราะครอบครัวผู้เรียนต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการปรับตัวของผู้เรียนด้วย


คุณทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิชาการด้านปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า

การทำให้การเรียนการสอนของไทยให้มีคุณภาพ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาตั้งเป้าร่วมกันใหม่ว่าอยากให้เด็กไทยควรมีทักษะด้านใดบ้าง โดยนำเทคโนโลยีการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม และควรยืดหยุ่นให้แก่สถานศึกษา โดยคำนึงถึงความอิสระในการหาวิธีจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละแห่ง

นอกจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแล้ว ผู้เรียนเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เพื่อการเรียนที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวได้ดังนี้


  • ตั้งเป้าหมายในแต่ละวันให้กับตัวเอง

การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้จริงช่วยให้มีแรงบันดาลใจที่ดีในการเรียน ควรกำหนดปริมาณงานที่ต้องทำในแต่ละวันให้เหมาะสม และกำหนดเดดไลน์ของงานแต่ละชิ้น ก็จะช่วยให้เราจัดการเวลาได้ดีขึ้น


  • เพิ่มการมีวินัย สร้างสมาธิในขณะเรียน

จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเรียน ขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเองที่มากกว่าที่เคยเรียนในชั้นเรียน และหมั่นทบทวนเนื้อหาสม่ำเสมอ


  • บริหารเวลาเรียนและพักผ่อนให้เหมาะสม

จัดตารางในแต่ละวันให้มีช่วงเวลาเรียนและช่วงเวลาพักเบรก เพื่อให้มีเวลาไปเดินเล่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับอย่างเพียงพอ ให้สมองได้มีเวลาพักผ่อน


  • เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนให้พร้อม

ผู้เรียนต้องพร้อมทั้งอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน หรือหูฟัง แต่ควรเลือกให้พอใช้งานได้ก็เพียงพอ โดยสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนในส่วนที่จำเป็น


 

การปรับตัวของผู้สอนในยุค New Normal



การปรับตัวของการสอนยุค New Normal ผู้สอนต้องเพิ่มบทบาทของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Technology Integration) และสถานศึกษาควรจัดเตรียมเครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้สอน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้สอน และนำไปสู่การพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ


ผศ. ดร.กนกพร กังวาลสงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสังคม บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. กล่าวถึงวิธีการจัดการเรียนการสอนในยุคโควิด-19 ว่า


“อาจารย์จะใช้ Zoom เป็นแพลตฟอร์มหลัก เพราะค่อนข้างสะดวก โดยใช้ทั้งโน้ตบุ๊กสำหรับดูว่าห้องเรียนที่เราสอนเป็นอย่างไร นักศึกษาตามทันหรือเปล่า และใช้ iPad สำหรับเขียนบนสไลด์เหมือนเราเขียนบนกระดาน เพื่อให้จังหวะในการบรรยายไม่เร็วจนเกินไป เพราะเราเห็นนักศึกษากำลังดูไปตามที่เราเขียน หากบรรยายอย่างเดียวอาจจะพูดเร็วไป”

สิ่งสำคัญสำหรับการปรับตัวของผู้สอนในยุค New Normal ได้แก่

  • รูปแบบการสอน

การปรับเนื้อหาวิชา การบ้าน การสอบ หาวิธีการรูปแบบไหนที่จะเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละวัย การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในการเรียนออนไลน์ได้ รวมทั้งสามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งการเรียนรู้เป็นรายบุคคล การเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก และการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นตัวช่วยสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ของผู้เรียนให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่สุด โดยผสมผสานทั้งการเรียนออนไลน์และออฟไลน์ร่วมกัน ภายใต้รูปแบบที่เกิดจากความคิดเห็นร่วมกันของผู้สอน ยกตัวอย่างเช่น


- Zoom เครื่องมือในการสื่อสาร ออกแบบการเรียนรู้ และจัดคอร์สสอนออนไลน์ได้


- Microsoft Forms ใช้สำหรับการสร้างแบบฟอร์มฟรี แบบทดสอบ และแบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งผู้สอนสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกิจกรรมในแต่ละรายวิชา


  • เทคโนโลยีการศึกษาช่วยเสริมกิจกรรมระหว่างการสอน

ระหว่างเรียนต้องหากิจกรรมให้ผู้เรียนรู้สึกสนุก เพิ่มความสนใจและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนถามข้อสงสัยมากขึ้น แบ่งการวิดีโอคอลเป็นกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อยในการส่งงานหรือการนำเสนองาน ส่วนวิชาที่เป็นโครงงานที่ต้องมีการติดตาม ก็จะมีการกำหนดระยะเวลาในการนัดหมายออนไลน์เป็นกลุ่ม ๆ ยกตัวอย่างเช่น

- Thinglink เครื่องมือที่จะเปลี่ยนภาพธรรมดา ให้เป็นสื่อประสมเชิงโต้ตอบ (Interactive) โดย จะมีฟีเจอร์สำหรับเพิ่มภาพประกอบ คำอธิบาย บทความ และลิงก์วิดีโออื่น ๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย และสร้างแรงบันดาลใจในการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางรูปภาพ


- Kahoot ใช้สำหรับสร้างคำถามในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คำถามหลายตัวเลือกโดยสามารถใช้ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอมาใช้ในการตั้งคำถาม


  • การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในการสอน

ผู้สอนอาจต้องเรียนรู้ทักษะการใช้อุปกรณ์การสอนให้คล่องแคล่ว เพื่อให้ไม่สะดุดขณะไลฟ์สอน สิ่งสำคัญที่ผู้สอนต้องนึกถึง คือ วัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้เรียนที่จะต้องเรียนรู้และนำเครื่องมือต่าง ๆ มาประยุกต์กับการสอน ศึกษาคู่มือการสร้าง Micro-Videos จาก Presentation Files ได้ที่ Micro-Videos for Online Teaching Guide และเทคนิคการสร้างกระดานไวท์บอร์ดออนไลน์ได้ที่ Online Whiteboard Guide


 

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในยุค New Normal ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นเพียงทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีการปรับตัวอย่างมากด้วยความจำเป็นที่ต้องพัฒนาทักษะการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการศึกษามากขึ้น โดยอย่ามองว่า การเรียนออนไลน์จะสามารถทดแทนการเรียนในชั้นเรียนได้ทั้งหมด และการเรียนออนไลน์ที่ดีไม่ใช่การคัดลอกในห้องเรียนมาไว้ในแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นสำคัญ


หากต้องการไอเดียหรือเครื่องมือที่ใช้ในการสอน สามารถดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานได้แบบฟรีๆ หรือปักหมุด (Pin) บทความเก็บไว้อ่านภายหลังได้ เพียงสมัครเข้าใช้งาน (ฟรี) ได้ที่เว็บไซต์ Tech Integration



 

ที่มาข้อมูล


ณิชา พิทยาพงศกร. (14 พฤษภาคม 2563). New Normal ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกล ไม่ใช่คำตอบ. เข้าถึงได้จาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย: https://tdri.or.th/2020/05/desirable-new-normal-for-thailand-education/ เมื่อ 'เทคโนโลยี' เป็นตัวช่วยการศึกษา? (13 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงได้จาก กรุงเทพธุรกิจ: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/88890 Best Practices for Teaching Online #2. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก ETS Tech Integration: https://techintegration.ets.kmutt.ac.th/content/teaching-story/247 หน่วยศึกษานิเทศก์. (2562). แนวทางการนิเทศเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning). เข้าถึงได้จาก สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน: http://academic.obec.go.th/images/document/1603180137_d_1.pdf ETS: Micro-Videos for Online Teaching Guide. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก ETS Tech Integration: https://techintegration.ets.kmutt.ac.th/content/teaching-story/269 ETS: Online Whiteboard Guide 2021. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก ETS Tech Integration: https://techintegration.ets.kmutt.ac.th/content/teaching-story/266 Kahoot!. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก ETS Tech Integration: https://techintegration.ets.kmutt.ac.th/content/tech-review/1 Thinglink. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก ETS Tech Integration: https://techintegration.ets.kmutt.ac.th/content/tech-review/35 Microsoft Forms. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก ETS Tech Integration: https://techintegration.ets.kmutt.ac.th/content/tech-review/123 Zoom. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก ETS Tech Integration: https://techintegration.ets.kmutt.ac.th/content/tech-review/120 ปัณณ์ พัฒนศิริ. (19 กรกฎาคม 2564). COVID-19 Education Disruption: นัยต่อสังคมและเศรษฐกิจเมื่อโลกเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์. เข้าถึงได้จาก Economic Intelligence Center: https://www.scbeic.com/th/detail/product/7695

ดู 15,711 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page