top of page
รูปภาพนักเขียน4Lifelonglearning

เริ่มต้นจากวิชาพื้นฐานด้านกราฟิกกับการออกแบบ Micro-Credentials (MCs) โดย รศ.ภาวดี สมภักดี

อัปเดตเมื่อ 27 ม.ค. 2566


Education Hero

#EducationHero l 4LifelongLearning


“ดิฉัน รศ.ภาวดี สมภักดี เป็นประธานและผู้อำนวยการหลักสูตร Creative Technology และ Digital Design ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)” หนึ่งในอาจารย์ มจธ. ที่ร่วมออกแบบ MC ทำไมอาจารย์ถึงหยิบวิชาที่เป็นหัวใจหลักของหลักสูตรมาออกแบบ MC เราไปอ่านบทสัมภาษณ์พร้อมกันค่ะ


“MC ที่ทำมีชื่อว่า Developing a Geometric Transformation Math Library เป็น MC ที่เกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนา เขาเรียกว่าเป็น Library ทางคณิตศาสตร์ เป็นโปรแกรมที่ใช้สนับสนุนในเรื่องของการทำงานที่เรียกว่า Geometric Transformation เป็นกระบวนการในการเคลื่อนวัตถุ สามารถนำไปใช้ในการควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้อง การเคลื่อนที่ของตัวละคร หรือวัตถุที่อยู่ในซีน จนกระทั่งถึงการทำแอนิเมชัน ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นสูงทางคณิตศาสตร์”


เหตุผลที่เลือกออกแบบ MC นี้?

“เราเลือกหัวข้อหรือรายวิชาที่เราคิดว่าเป็นหัวข้อที่มีคนใช้มากที่สุด วิชาที่เป็นหัวใจหลักของการศึกษาเพื่อจะได้สอนกับผู้เรียน หรือผู้ที่อยู่ในวงการวิชาชีพนี้ ได้มาวัดหรือประเมินสมรรถนะของตัวเองว่า ตัวเองมีความรู้พื้นฐานที่ถูกต้อง รู้ในรายละเอียดมากเพียงพอแล้วหรือยัง จึงเลือกทางด้าน Geometric Transformation ซึ่งคิดว่าเป็นหลักการพื้นฐานทางด้านกราฟิก”


MC นี้เหมาะกับใคร?

“เหมาะสำหรับผู้เริ่มศึกษา การทำ Geometric Transformation ไม่ได้เป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน ถ้าเราเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมการเคลื่อนที่ของวัตถุ สามารถสร้างประโยชน์มหาศาล นำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างมากมาย”

“ในส่วนของคนที่ประกอบอาชีพ ปกติแล้วในการทำงานไปสักพักหนึ่งเราจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้พวก Commercial package หรือการใช้พวก Library ต่าง ๆ เราไม่รู้เลยว่ากระบวนการภายในมันคืออะไร การที่เรารู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์หรือสามารถสร้างตัว Package หรือ Library ขึ้นมาเองได้ ทำให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของการเข้าใจเกี่ยวกับพารามิเตอร์ที่เราใช้ควบคุมในการเคลื่อนที่ต่าง ๆ การทำงานของเราจะมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น แม้จะอยู่ในวงการอาชีพนี้แล้วก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องทราบว่าข้างในนั้นเกิดกลไกอะไรขึ้น ก็จะทำให้เราควบคุมได้ คนที่จะทำเหล่านี้ได้ก็จะต้องเข้าใจพื้นฐานที่เรากำลังจะสอน”


อยากให้อาจารย์ช่วยนิยามความหมายของ MCs

“MCs เป็นระบบบันทึก Performance ของคนเรียน Competency อย่างที่เราใช้คำ ๆ นี้กัน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราต้องการที่จะดูว่าตัวเรามีสมรรถนะตรงกับความต้องการนี้หรือไม่เราอาจจะมาทดลองทำตรงนี้ สมัยก่อนเคยเข้าใจว่าเป็น Courseware แต่จริง ๆ คือไม่ใช่ มันเป็นระบบเก็บบันทึกเพื่อจะประเมินสมรรถนะของเราในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่ประเมินผลแบบเกรดที่เป็นข้อสอบที่เรียนแล้วมาสอบ”


เหตุผลที่มาเข้าร่วมออกแบบ MC

“จากการศึกษา MCs ไม่ใช่ Courseware แต่เป็นการวัดสมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งจะต้องประกบเข้ากับการสอน ถ้าเรามีระบบในเรื่องของการประเมิน หรือ MCs ที่สอนให้เราเข้าใจในเรื่องการดูสมรรถนะของผู้เรียน จะทำให้เราสามารถวัดตรงนี้ได้ดีกว่า

แทนที่เราจะไปวัดเป็นเกรดซึ่งเราไม่ทราบว่าจะต้องวัดจากอะไร 80% ของวิชานี้กับ 80% ของวิชาหนึ่งเกิดจากอะไร แต่ถ้าเราบอกเขาได้ว่าผู้เรียนสามารถทำอะไรได้บ้าง อันนี้ก็จะเป็นการสื่อสารที่ตรงกว่า

สามารถที่จะเกิดการถ่ายโอนวิชา เช่น ปัญหาของเราอย่างเวลาเด็กมาสมัครเรียนกับเราและอยากจะขอ Transfer วิชามา ได้เกรด A เกรด B เกรด C แล้วก็ไม่ทราบว่าเกรด A B C นั้นคืออะไรนะ นอกจากรู้ว่าได้คะแนนเกิน 80% เกิน 60% เป็นต้น แต่ถ้าเราเห็นสมรรถนะของเขา เราก็จะทราบว่าผู้เรียนทําอะไรเป็นได้บ้าง ก็น่าจะเป็นตัวที่สามารถที่จะช่วยในเรื่องของการถ่ายโอนความรู้ได้ดีกว่าค่ะ”


อยากทราบความรู้สึกที่ได้มาร่วมทำ MC

“หลังจากที่ทำไปแล้วในฐานะของคนสอนถ่ายทอดองค์ความรู้ไป ก็คิดว่า MC ตัวนี้เป็นตัวที่สามารถที่จะวัดสมรรถนะผู้เรียนได้ดี ปัญหาคือเราที่เป็นคนสอนเราไม่เคยคิดถึงสิ่งเหล่านี้ แต่สมัยก่อนที่สอนเลขจะสอนทฤษฎีไปแล้วก็มาสอบตามโจทย์แบบฝึกหัดแก้ปัญหา แต่ตอนนี้พอเริ่มทำ MC เราเริ่มมองสมรรถนะว่าเรียนแล้วเอาทำอะไร สิ่งที่เราจะวัดออกมาว่าเด็กมีสมรรถนะในเรื่องของความเข้าใจทางด้าน Geometric Transformation คืออะไร ทำให้เราเริ่มมองว่าเด็กจะต้องเห็นประโยชน์ถึงจะรู้ว่า MC นี้เอาไปทำอะไร ก็เลยมาเปลี่ยนจากคำแนะนำของทีม MC ให้กลายเป็น Library แทน ก็จะสมบูรณ์เป็นหน่วยย่อยซึ่งเรียนจากทฤษฎี เข้าใจวิธีการแก้ปัญหา และนำไปปฏิบัติ นั่นคือสิ่งที่สำคัญ ตอนที่เราเรียนหนังสือเราจะเข้าใจก็ต่อเมื่อเราได้ลงปฏิบัติ และจะเห็นคุณค่าก็ต่อเมื่อสามารถประยุกต์ใช้กับงานของเราได้อย่างจริงจัง MCs เป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในอนาคต”


ก่อนจบการสัมภาษณ์ทีมงานอยากให้อาจารย์ช่วยเชิญชวนผู้สนใจมาพิสูจน์ความสามารถ และเชิญชวนอาจารย์มาร่วมกันออกแบบ MC

“สำหรับคนทั่วไปอยากจะบอกว่า MC ตัวนี้มีค่ามหาศาลเพราะว่ามันมาจากพละกำลังของเราในด้านของการผลิตออกแบบสูงมาก ตอนนี้มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้ทุกคนมาพิสูจน์ความสามารถจึงอยากเชิญชวนมาพิสูจน์กันค่ะ”


“สำหรับอาจารย์ มองว่าถ้าทุกคนมาร่วมกันทำ MC ซึ่งเป็นเพียงยูนิตเล็ก ๆ ที่เรามาประกอบกัน ลองนึกถึงภาพว่าทุกคนต่างสร้าง MC ขึ้นมา การเปลี่ยนแปลงของตัวหลักสูตร สามารถข้ามแนวคิดของเวลาทำไมเด็กต้องเรียน 4 ปีถึงจะจบ ถ้าเรามี MC ถึงเป็นพัน ๆ เป็นหมื่น ๆ ยูนิตถ้าเราเลือกบางส่วนเข้ามาเพื่อจะประกอบกันเป็นองค์ความรู้อันหนึ่งเพื่อให้เป็นปริญญา Formal หรือ Nonformal Education ก็แล้วแต่

MCs จะขจัดปัญหาเวลาที่ผู้เรียนจะต้องใช้ถึง 4 ปี ผู้เรียนบางคนก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนถึงจะเข้าใจอันนี้ เพราะเขาอาจจะทำเป็นมาแล้ว การมาพิสูจน์ความสามารถจะช่วยประหยัดเวลาและมีคุณค่าต่อผู้เรียน เขาได้เลือกสิ่งที่เขาอยากเรียน จนกระทั่งสามารถประกอบหลักสูตรตามที่อยากเรียนได้

“สิ่งเหล่านี้มันถูกบันทึกเอาไว้ในระบบซึ่งเป็นความสามารถในตัวของเราด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาทำพร้อมกันร่วมแรงร่วมใจกันแล้วเราจะมีองค์ความรู้ของ MCs นี้เต็มไปหมดไม่ว่าตัวหลักสูตรจะเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหนในอนาคตข้างหน้าเราสามารถเลือก และจัดหลักสูตรใหม่ ๆ ขึ้นมาหรือแม้กระทั่งผู้เรียนก็สามารถเลือกด้วยตัวเขาเองได้”


สนใจร่วมพัฒนา Micro-Credentials กับ 4LifelongLearning ติดต่อได้ที่ 4life@mail.kmutt.ac.th

ดู 200 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page